ติดต่อ Email veerapol@blpower.co.th, plecpn@blpower.co.th, thanij@blpower.co.th
ตามติดสถานการณ์โซลาร์ภาคประชาชนในต่างประเทศ เปิด 4 ตัวอย่างจากสหรัฐอเมริกา , เยอรมนี , จีน และออสเตรเลีย ส่องนโยบายรัฐละแนวโน้มในอนาคต
ดร.พิมพ์สุภา เกาะช้าง นักวิจัย สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงสถานการณ์โซลาร์ภาคประชาชน ในต่างประเทศว่า เนื่องจากต้นทุนการติดตั้งระบบโซลาร์มีราคาที่ถูกลงในหลายๆ ปีที่ผ่านมา ทำให้แนวโน้มการติดตั้งระบบโซลาร์เติบโตอย่างต่อเนื่องในหลายๆประเทศ
โดยตัวอย่างการใช้โซลาร์รูฟภาคครัวเรือนที่น่าสนใจในต่างประเทศ เช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกา ตลาดโซลาร์ประเภทครัวเรือนมีปริมาณการติดตั้งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในไตรมาสที่ 4 ของปี ค.ศ. 2018 ซึ่งนับว่าเป็นปีแห่งการฟื้นตัวของตลาดโซลาร์ภาคครัวเรือนและได้ขยายตัวเพิ่มขึ้น 7% โดยมีจำนวนการติดตั้งระบบโซลาร์จากกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น 314,600 ระบบในปี 2018 นอกจากนี้รัฐแคลิฟอเนียร์ ยังเป็นรัฐแรกของประเทศสหรัฐอเมริกาที่ได้ออกผลบังคับใช้ให้บ้านและอาคารอพาร์ตเมนต์ใหม่ที่สร้างขึ้นหลังจากวันที่ 1 มกราคม 2020 ต้องติดตั้งพร้อมระบบโซลาร์ด้วย
มาดูทางฝั่งยุโรปในประเทศเยอรมนี ถือเป็นตลาดโซลาร์ที่ใหญ่ที่สุดในสหภาพยุโรป นโยบายขับเคลื่อนหลักที่สำคัญคือ นโยบายการผลิตเพื่อใช้เอง (Self-consumption) และนโยบายรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในอัตราพิเศษ (Feed-in Premium) สำหรับกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่
จากข้อมูลรายงานประจำปี (REN21,2018) ในสิ้นปี ค.ศ. 2018 ประเทศเยอรมนีมีระบบโซลาร์ที่ติดตั้งแล้วมากกว่า 1.7 ล้านระบบ โดยเฉพาะกลุ่มบ้านอยู่อาศัยที่ติดตั้งระบบโซลาร์บนหลังคาแล้วกว่า 1 ล้านหลังคาเรือน นอกจากนี้ คาดการณ์ว่าจะมีระบบโซลาร์ที่ติดตั้งพร้อมระบบกักเก็บพลังงานประมาณ 120,000 ระบบเปิดใช้งานภายในสิ้นปี 2018 และตั้งเป้าติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานอีกประมาณ 200,000 ระบบในอีก 2 ปีข้างหน้า
สำหรับในแถบเอเชีย ประเทศจีนถือเป็นประเทศที่ตลาดโซลาร์มีการเติบโตมากที่สุดจากนโยบายการสนับสนุนของรัฐบาลจีนเอง โดยกำลังการผลิตติดตั้งสะสมของระบบโซล่าร์คิดเป็น 27.1 %ของการติดตั้งระบบโซล่าร์ทั้งหมดในประเทศจีน โดยรัฐบาลจีนมีนโยบายขับเคลื่อนการเติบโตของระบบโซลาร์ในประเทศ เช่น นโยบายเงินอุดหนุนโครงการโซลาร์ (solar subsidy) อัตราเงินอุดหนุนและระยะเวลาแตกต่างกันไปตามระดับภูมิภาค; อัตราเงินอุดหนุนในท้องถิ่นอยู่ในช่วงระหว่าง 0.05 ถึง 0.55 หยวน / kWh (0.0077-0.0846 USD/ kWh) ในระยะเวลา 2-20 ปี และสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ลงทุน นอกจากนี้ สำนักบริหารจัดการพลังงานแห่งชาติจีนได้ริเริ่มโครงการนำร่องในการซื้อขายแบบ peer-to-peer ของการผลิตไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์ซึ่งอาจเป็น win-win สำหรับทั้งผู้ผลิตไฟฟ้าและผู้ใช้ไฟฟ้า
สำหรับประเทศออสเตรเลีย เป็นประเทศที่ใช้พลังงานโซลาร์มากที่สุดในโลก เนื่องมาจากอัตราค่าไฟที่มีราคาแพง ทำให้ประเทศออสเตรเลียบูมเรื่องการใช้พลังงานโซลาร์อย่างมาก โดยมากกว่า 21%ของหลังคาบ้านเรือนติดตั้งแผงโซลาร์ หรือประมาณ 2.21 ล้านระบบโซลาร์บนหลังคาที่ติดตั้งแล้วทั่วประเทศออสเตรเลีย
ในปี ค.ศ. 2018 ที่ผ่านมารัฐบาลออสเตรเลียออกประกาศเตรียมสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้บ้านจำนวนกว่า 50,000 หลังคาเรือนทางรัฐเซาท์ออสเตรเลีย ประเทศออสเตรเลีย ติดตั้งแผงพลังโซลาร์เชื่อมกับแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ของเทสลา เพื่อเป็นแหล่งพลังงานให้กับบ้านเรือน ประชาชนได้ประโยชน์จากบิลค่าไฟที่จะลดลง และให้ประชาชนมีรายได้จากการขายพลังงานไฟฟ้าให้กับหน่วยงานรัฐ
โดยตั้งเป้าติดตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 4 ปี จะเริ่มต้นจาก 1,100 หลังคาเรือนก่อน ซึ่งแต่ละหลังจะผลิตพลังงานไฟฟ้าเข้าสู่แบตเตอรี่ของเทสลาได้ 5 กิโลวัตต์ โดยงบประมาณที่รัฐบาลจะนำมาใช้ในโครงการนี้ จะมาจากงบประมาณ 2 ล้านเหรียญออสเตรเลีย และเป็นการกู้เงินจากกองทุนเทคโนโลยีที่มีรายได้จากการเก็บภาษีจากประชาชนอีก 30 ล้านเหรียญออสเตรเลีย
นอกจากนี้ รัฐบาลออสเตรเลียยังมีโครงการสนับสนุนทางการเงินหรือเรียกว่า โครงการ Small scale renewable scheme (SRES) สำหรับครัวเรือนและธุรกิจขนาดเล็กที่ติดตั้งระบบพลังงานหมุนเวียนขนาดเล็ก เช่น พลังงานโซลาร์ และพลังงานลม โดยได้รับสิทธิประโยชน์ทางการเงินภายใต้โครงการนี้ เพื่อช่วยค่าใช้จ่ายในการลงทุนติดตั้ง จนถึงปี ค.ศ. 2030
อย่างไรก็ดี จากการวิจัยในต่างประเทศ ถึงแม้ราคาการติดตั้งระบบโซลาร์รูฟจะมีแนวโน้มลดลง โดยราคาต้นทุนการผลิตไฟฟ้า (Levelized Cost of Electricity) จากโซลาร์มีค่าต่ำกว่าการซื้อไฟฟ้าจากโครงข่ายระบบไฟฟ้าแล้วนั้น แต่การติดตั้งระบบโซลาร์รูฟยังมีค่าใช้จ่ายในการติดตั้งระบบเริ่มแรก (Upfront cost) ค่อนข้างสูง และเป็นทางเลือกของคนที่มีเงินทุนเท่านั้น ทำให้ประชาชนกลุ่มรายได้สูงสามารถเข้าถึงไฟฟ้าราคาถูกได้จากการติดตั้งระบบโซลาร์รูฟ ในขณะที่ประชาชนกลุ่มอื่นมีโอกาสน้อยกว่า